วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

มาลองทำเปเปอร์มาเช่กันดีกว่า [ตอนที่ 4]

การตัด


การใช้มีดคัดเตอร์ตัดควรทำบนโต๊ะที่มีผิวเรียบ ไม่มีร่องหลุมหรือหัวตะปูให้สะดุด มีความมั่นคงและควรมีแผ่นรองตัดรองอยู่ด้านล่าง ในการกรีดตัดควรทำการกรีดนำร่องไปก่อนแล้วจึงกรีดซ้ำรอยเดิมให้กระดาษขาดออกจากกันอีกครั้ง ถ้าเป็นการกรีดเส้นตรงควรใช้บรรทัดที่ทำจากโลหะด้วย ที่สำคัญที่สุด ระวังนิ้วด้วย

การทำแบบพิมพ์โดยใช้กระดาษแบบง่ายๆ




เทคนิคที่ประหยัดและทำได้ง่ายๆในการทำแบบพิมพ์จากกระดาษซึ่งควรเป็นกระดาษที่มีความหนาพอสมควรเช่น กระดาษการ์ด เมื่อเราร่างแบบลงบนกระดาษเรียบร้อยแล้วก็นำมาตัดออกและประกอบกันโดยใช้เทปกระดาษ (ดูรูป)


การทำแบบพิมพ์โดยใช้ดินน้ำมัน





เราอาจใช้ดินน้ำมัน ปูนปลาสเตอร์หรือวัสดุขึ้นรูปอย่างอื่นมาใช้ โดยขั้นแรกนำมาคลึงด้วยไม้ทรงกระบอก หรืออาจใช้ขวดก็ได้เพื่อให้ดินอ่อนตัว จากนั้นนำแบบที่เตรียมไว้แล้วมาทาบ ใช้ใบมีดคัตเตอร์ซึ่งสามารถใช้ใบมีดเก่าที่ไม่ค่อยจะคมแล้วมากรีดตัดออกตามแบบ เสร็จแล้วทำการแต่งผิวตามขอบให้มนดูเป็นธรรมชาติ

การนำกระดาษมาปิดเป็นชั้นๆ เพื่อขึ้นรูป





การทำเปเปอร์มาเช่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้ เป็นการนำกระดาษมาตัดหรือฉีกเป็นท่อนเล็กๆ ทากาวและปิดลงบนแบบ จากนั้นทิ้งไว้ให้แห้งแล้วปิดชั้นต่อไป ระหว่างรอชิ้นงานแห้งก็อย่าลืมปิดฝาขวดกาวด้วย เดี๋ยวจะแห้งกันหมดพอดีไม่มีใช้ ในการปิดกระดาษในชั้นแรกควรทากาวบางๆ และในทุกๆ ชั้นควรวางกระดาษในแนวเดียวกันเพื่อความแข็งแรง หากใช้กระดาษที่มีสีหรือลวดลายแตกต่างกันในแต่ละชั้นก็จะช่วยให้เราแยกความแตกต่างออกอย่างชัดเจนและสามารถปิดกระดาษได้เรียบร้อยไม่ขาดตกที่ใดที่หนึ่ง ตามซอกมุมที่นิ้วมือไม่สามารถเข้าถึงอาจใช้ใบมีดช่วยในการกดการะดาษให้แนบกับแบบตามซอกมุมต่างๆ ได้

การนำกระดาษมาบดเพื่อใช้เป็นวัสดุขึ้นรูป




นำกระดาษหนังสือพิมพ์มาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 2.5 ตารางเซนติเมตร แล้วนำไปใส่ในชามอ่างขนาดใหญ่ เติมน้ำและแช่ทิ้งไว้ 6 - 8 ชั่วโมง จากนั้นนำลงต้มให้เดือดประมาณ 20 นาที รอให้เย็นลง เทกาวลงไปผสม คนให้เข้ากัน ใช้ช้อน ( ใหญ่ ) กดให้แบนเพื่อคั่นส่วนที่เป็นน้ำออกเหลือแต่เนื้อกระดาษหมาดๆ ถ้าใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดเช่น ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่นหรือใส่กล่องที่มีฝาปิดมิดชิดจะเก็บไว้ได้นาน เราสามารถนำมาใช้ปั้นเป็นรูปสัตว์ต่างๆหรือปั้นตามแบบที่ต้องการได้

การนำแบบออกจากแม่พิมพ์





กรณีที่เราใช้ดินน้ำมันหรือวัสดุใดๆมาขึ้นเป็นแบบ เมื่อนำชิ้นกระดาษมาปิดจนมีความหนาพอแล้วต้องการจะแกะแบบออกจากแม่พิมพ์ ถ้าไม่สามารถถอดออกตรงๆ ได้ก็จำเป็นต้องตัดออกเป็นสองส่วนหรืออาจจะเป็นสามส่วนขึ้นอยู่กับลักษณะรูปร่างของต้นแบบ ถอดเอาดินน้ำมันหรือวัสดุขึ้นรูปออกจากพิมพ์ เสร็จแล้วตัดตกแต่งขอบให้เรียบร้อย ทากาวตามขอบและนำมาประกบกัน ติดด้วยเทปกาวแล้วจึงปิดทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ทากาวอีกสองหรือสามชั้นจึงจะทำการเตรียมผิวเพื่อตกแต่งด้วยสีต่างๆ

การขัด การพอก และการรองพื้น





เมื่อเราทำงานจนได้เป็นรูปร่างมาเรียบร้อยแล้ว งานต่อไปก็จะต้องทำการลงสี แต่ก่อนจะลงสีจำเป็นต้องมีการเตรียมผิวงานให้เรียบร้อยก่อน สีที่ได้จะได้จึงจะดูสวยและเรียบร้อย เราควรใช้กระดาษทรายค่อยๆ ขัดบริเวณที่มีเสี้ยนหรือบริเวณที่มีพื้นผิวไม่เรียบ ตะไบเล็บอันเล็กๆ เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ดีและมีประสิทธิภาพเหมือนกันครับกรณีที่ต้องตะไบบริเวณที่เป็นมุมเล็กๆ แคบๆที่กระดาษทรายเข้าไม่ถึง ส่วนบริเวณที่เป็นรอยบุ๋มลึกอาจใช้ขี้เลื่อยที่ได้จาการเลื่อยไม้มาผสมกาว คนให้เข้ากันทาลงบริเวณที่เป็นรอยบุ๋มลึก รอให้แห้งและแต่งด้วยกระดาษทรายอีกครั้ง

หลังจากทำการขัดเสี้ยน พอกตกแต่งผิวและรอจนแห้ง ขัดด้วยกระดาษทรายจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าต้องการให้สีสวยจริงก็ทำการลงสีรองพื้นก่อนที่จะลงสีและลวดลายต่างๆ ทั้งนี้กระดาษที่ปิดอยู่ชั้นนอกสุดควรจะเป็นกระดาษสีขาวที่ไม่มีลวดลายใดๆ


การลงสีโดยใช้ฟองน้ำ


ปกติการทาสีจะใช้แปลงทาสีขนาดต่างๆ แต่การทาสีโดยใช้ฟองน้ำทำให้ได้งานที่ดูแปลกตา เนื้อสีก็จะไม่หนาจนเกินไป ใช้ฟองน้ำซับสีเบาๆ ต้องระวังอย่าซับสีมากจนเกินไปเพราะสีที่ได้จะเลอะและหนาเกินไป งานสีภายในตามอาคารต่างๆ บางแห่งก็ใช้เทคนิคนี้เช่นเดียวกัน โดยอาจรองพื้นด้วยสีขาวก่อนและลงสีโดยใช้ฟองน้ำด้วยสีเทาอ่อนหรือสีอื่นๆ ตามต้องการ ดูสวย สว่าง การจัดเฟอร์นิเจอร์ก็ง่ายด้วยเพราะสีผนังจะเป็นสีอ่อนๆ

วาดแบบลงบนกระดาษก่อน เจาะรูส่วนที่จะทำให้เกิดลายแล้วทาบลงบริเวณที่จะลงสีโดยใช้เทปกระดาษปิดไม่ให้เลื่อน


การทำสีลายนูน




การทำสีลายนูนช่วยทำให้งานมีลักษณะกึ่งสามมิติ แลดูแปลกตา แต่ก็ช่วยให้ผลงานที่ได้มีราคาขึ้น แต่ต้นทุนก็สูงขึ้นมากด้วยเพราะสีมีราคาแพง ในการลงสีลายนูนอาจใช้วัสดุต่างๆ มาใช้ในการตกแต่งเพื่อให้ดูสวยงามขึ้น

ที่มา : http://student.psu.ac.th/StudAffairs/carrey/c47/Career_december.htm





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น