วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ตัวอย่างการผลิตงานเปเปอร์มาเช่ดอกไม้เปเปอร์มาเช่

การนำเศษกระดาษที่ทิ้งแล้วมาสร้างสรรค์งานศิลปะ ทำให้มีมูลค่ามากขึ้น แทนที่จะนำกระดาษที่ใช้แล้วทิ้งขยะ ก็สามารถแปรสภาพให้เป็นงานหัตถกรรมได้ อาทิ แจกัน โคมไฟ และดอกไม้เป็นต้น

เตรียมวัสดุ 

  • เศษกระดาษที่ใช้แล้ว 
  • ลวด 
  • กรรไกร 
  • พู่กัน 
  • คัดเตอร์ 
  • สี สำหรับระบายดอกไม้ และ ใบไม้ 
  • แป้งเปียก 
วิธีการทำ
  1. เริ่มจากดดลวดให้เป็นโครงกลีบ ซึ่งแล้วแต่จะทำเป็นดอกอะไร เช่น ดอกลั่นทม ดอกลิลลี่ 
  2. นำกระดาษที่ใช้แล้วมาทาแป้งเปียกแล้วนำมาติดบนโครงลวดแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง 
  3. ส่วนใบถ้าทำดอกอะไร ก็ต้องทำใบของดอกไม้ชนิดนั้น ใช้วิธีดัดลวดให้เป็นรูปร่างของใบ 
  4. นำดอกไม้และใบไม้ที่แห้งแล้วมาระบายสี แล้วค่อยจัดเป็นช่อให้ดูสวยงาม




วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ตัวอย่างการผลิตงานเปเปอร์มาเช่ตุ๊กตาแมวเหมียว

ตัวอย่างการทำตุ๊กตาแมวเหมียวน่ารักๆ มาฝากพอเป็นไอเดีย เสร็จแล้วจะเปลี่ยนแปลงสี ลวดลายอย่างไรแล้วแต่ความชอบ ดูรูปแล้วจะเห็นว่าน่ารักแบบนี้ ขายได้แน่ ใช้เป็นของขวัญก็ดูน่ารัก นำมาเป็นเฟอร์นิเจอร์แต่งห้องก็ดูดี



วิธีทำ

นำวัสดุรูปทรงกลม เช่น โฟมรูปทรงกลม ลูกปิงปอง จากนั้นนำกระดาษหนาเช่นกระดาษการ์ดแต่งงานหรือกระดาษนามบัตรมาทำหูทั้งสองข้างของตุ๊กตาและติดลงบนทรงกลม ( ดูรูป ) นำกระดาษที่ผ่านการแช่น้ำแล้วมาปิดลงทั้งทรงกลมเป็นชั้นๆ




ส่วนของโหนกแก้ม ตาและหางใช้กระดาษบด นำมาปั้นตามแบบ ปล่อยไว้ให้แห้ง และทำการลงสีและลวดลาย

ที่มา : http://student.psu.ac.th/StudAffairs/carrey/c47/Career_december.htm





มาลองทำเปเปอร์มาเช่กันดีกว่า [ตอนที่ 4]

การตัด


การใช้มีดคัดเตอร์ตัดควรทำบนโต๊ะที่มีผิวเรียบ ไม่มีร่องหลุมหรือหัวตะปูให้สะดุด มีความมั่นคงและควรมีแผ่นรองตัดรองอยู่ด้านล่าง ในการกรีดตัดควรทำการกรีดนำร่องไปก่อนแล้วจึงกรีดซ้ำรอยเดิมให้กระดาษขาดออกจากกันอีกครั้ง ถ้าเป็นการกรีดเส้นตรงควรใช้บรรทัดที่ทำจากโลหะด้วย ที่สำคัญที่สุด ระวังนิ้วด้วย

การทำแบบพิมพ์โดยใช้กระดาษแบบง่ายๆ




เทคนิคที่ประหยัดและทำได้ง่ายๆในการทำแบบพิมพ์จากกระดาษซึ่งควรเป็นกระดาษที่มีความหนาพอสมควรเช่น กระดาษการ์ด เมื่อเราร่างแบบลงบนกระดาษเรียบร้อยแล้วก็นำมาตัดออกและประกอบกันโดยใช้เทปกระดาษ (ดูรูป)


การทำแบบพิมพ์โดยใช้ดินน้ำมัน





เราอาจใช้ดินน้ำมัน ปูนปลาสเตอร์หรือวัสดุขึ้นรูปอย่างอื่นมาใช้ โดยขั้นแรกนำมาคลึงด้วยไม้ทรงกระบอก หรืออาจใช้ขวดก็ได้เพื่อให้ดินอ่อนตัว จากนั้นนำแบบที่เตรียมไว้แล้วมาทาบ ใช้ใบมีดคัตเตอร์ซึ่งสามารถใช้ใบมีดเก่าที่ไม่ค่อยจะคมแล้วมากรีดตัดออกตามแบบ เสร็จแล้วทำการแต่งผิวตามขอบให้มนดูเป็นธรรมชาติ

การนำกระดาษมาปิดเป็นชั้นๆ เพื่อขึ้นรูป





การทำเปเปอร์มาเช่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้ เป็นการนำกระดาษมาตัดหรือฉีกเป็นท่อนเล็กๆ ทากาวและปิดลงบนแบบ จากนั้นทิ้งไว้ให้แห้งแล้วปิดชั้นต่อไป ระหว่างรอชิ้นงานแห้งก็อย่าลืมปิดฝาขวดกาวด้วย เดี๋ยวจะแห้งกันหมดพอดีไม่มีใช้ ในการปิดกระดาษในชั้นแรกควรทากาวบางๆ และในทุกๆ ชั้นควรวางกระดาษในแนวเดียวกันเพื่อความแข็งแรง หากใช้กระดาษที่มีสีหรือลวดลายแตกต่างกันในแต่ละชั้นก็จะช่วยให้เราแยกความแตกต่างออกอย่างชัดเจนและสามารถปิดกระดาษได้เรียบร้อยไม่ขาดตกที่ใดที่หนึ่ง ตามซอกมุมที่นิ้วมือไม่สามารถเข้าถึงอาจใช้ใบมีดช่วยในการกดการะดาษให้แนบกับแบบตามซอกมุมต่างๆ ได้

การนำกระดาษมาบดเพื่อใช้เป็นวัสดุขึ้นรูป




นำกระดาษหนังสือพิมพ์มาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 2.5 ตารางเซนติเมตร แล้วนำไปใส่ในชามอ่างขนาดใหญ่ เติมน้ำและแช่ทิ้งไว้ 6 - 8 ชั่วโมง จากนั้นนำลงต้มให้เดือดประมาณ 20 นาที รอให้เย็นลง เทกาวลงไปผสม คนให้เข้ากัน ใช้ช้อน ( ใหญ่ ) กดให้แบนเพื่อคั่นส่วนที่เป็นน้ำออกเหลือแต่เนื้อกระดาษหมาดๆ ถ้าใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดเช่น ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่นหรือใส่กล่องที่มีฝาปิดมิดชิดจะเก็บไว้ได้นาน เราสามารถนำมาใช้ปั้นเป็นรูปสัตว์ต่างๆหรือปั้นตามแบบที่ต้องการได้

การนำแบบออกจากแม่พิมพ์





กรณีที่เราใช้ดินน้ำมันหรือวัสดุใดๆมาขึ้นเป็นแบบ เมื่อนำชิ้นกระดาษมาปิดจนมีความหนาพอแล้วต้องการจะแกะแบบออกจากแม่พิมพ์ ถ้าไม่สามารถถอดออกตรงๆ ได้ก็จำเป็นต้องตัดออกเป็นสองส่วนหรืออาจจะเป็นสามส่วนขึ้นอยู่กับลักษณะรูปร่างของต้นแบบ ถอดเอาดินน้ำมันหรือวัสดุขึ้นรูปออกจากพิมพ์ เสร็จแล้วตัดตกแต่งขอบให้เรียบร้อย ทากาวตามขอบและนำมาประกบกัน ติดด้วยเทปกาวแล้วจึงปิดทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ทากาวอีกสองหรือสามชั้นจึงจะทำการเตรียมผิวเพื่อตกแต่งด้วยสีต่างๆ

การขัด การพอก และการรองพื้น





เมื่อเราทำงานจนได้เป็นรูปร่างมาเรียบร้อยแล้ว งานต่อไปก็จะต้องทำการลงสี แต่ก่อนจะลงสีจำเป็นต้องมีการเตรียมผิวงานให้เรียบร้อยก่อน สีที่ได้จะได้จึงจะดูสวยและเรียบร้อย เราควรใช้กระดาษทรายค่อยๆ ขัดบริเวณที่มีเสี้ยนหรือบริเวณที่มีพื้นผิวไม่เรียบ ตะไบเล็บอันเล็กๆ เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ดีและมีประสิทธิภาพเหมือนกันครับกรณีที่ต้องตะไบบริเวณที่เป็นมุมเล็กๆ แคบๆที่กระดาษทรายเข้าไม่ถึง ส่วนบริเวณที่เป็นรอยบุ๋มลึกอาจใช้ขี้เลื่อยที่ได้จาการเลื่อยไม้มาผสมกาว คนให้เข้ากันทาลงบริเวณที่เป็นรอยบุ๋มลึก รอให้แห้งและแต่งด้วยกระดาษทรายอีกครั้ง

หลังจากทำการขัดเสี้ยน พอกตกแต่งผิวและรอจนแห้ง ขัดด้วยกระดาษทรายจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าต้องการให้สีสวยจริงก็ทำการลงสีรองพื้นก่อนที่จะลงสีและลวดลายต่างๆ ทั้งนี้กระดาษที่ปิดอยู่ชั้นนอกสุดควรจะเป็นกระดาษสีขาวที่ไม่มีลวดลายใดๆ


การลงสีโดยใช้ฟองน้ำ


ปกติการทาสีจะใช้แปลงทาสีขนาดต่างๆ แต่การทาสีโดยใช้ฟองน้ำทำให้ได้งานที่ดูแปลกตา เนื้อสีก็จะไม่หนาจนเกินไป ใช้ฟองน้ำซับสีเบาๆ ต้องระวังอย่าซับสีมากจนเกินไปเพราะสีที่ได้จะเลอะและหนาเกินไป งานสีภายในตามอาคารต่างๆ บางแห่งก็ใช้เทคนิคนี้เช่นเดียวกัน โดยอาจรองพื้นด้วยสีขาวก่อนและลงสีโดยใช้ฟองน้ำด้วยสีเทาอ่อนหรือสีอื่นๆ ตามต้องการ ดูสวย สว่าง การจัดเฟอร์นิเจอร์ก็ง่ายด้วยเพราะสีผนังจะเป็นสีอ่อนๆ

วาดแบบลงบนกระดาษก่อน เจาะรูส่วนที่จะทำให้เกิดลายแล้วทาบลงบริเวณที่จะลงสีโดยใช้เทปกระดาษปิดไม่ให้เลื่อน


การทำสีลายนูน




การทำสีลายนูนช่วยทำให้งานมีลักษณะกึ่งสามมิติ แลดูแปลกตา แต่ก็ช่วยให้ผลงานที่ได้มีราคาขึ้น แต่ต้นทุนก็สูงขึ้นมากด้วยเพราะสีมีราคาแพง ในการลงสีลายนูนอาจใช้วัสดุต่างๆ มาใช้ในการตกแต่งเพื่อให้ดูสวยงามขึ้น

ที่มา : http://student.psu.ac.th/StudAffairs/carrey/c47/Career_december.htm





มาลองทำเปเปอร์มาเช่กันดีกว่า [ตอนที่ 3]

การวาดและการตัดกระดาษ

ควรใช้ดินสอที่มีความเข้ม HB หรือที่มีควมเข้มน้อยๆ ใช้เพียงร่างเส้นให้เห็นเท่านั้น กรณีที่ต้องตีเส้นให้ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเช่น วงกลมก็ใช้วงเวียน หากเป็นวงกลมขนาดเล็กอาจใช้ไม้บรรทัดที่มีรูวงกลมขนาดต่างๆ อย่าใช้เหรียญมาทาบแล้ววาด งานที่ได้อาจไม่สวยนัก ส่วนการตัดควรใช้มีดคัตเตอร์หรือกรรไกรที่คม ใบมีดที่ใช้ไปนานๆ ความคมเริ่มกลายเป็นความทื่อก็สามารถเก็บไว้ใช้ตัดตัวแบบได้

การนำชิ้นงานมาต่อติดกัน

บางกรณีเมื่อเราต้องการจะถอดแบบกระดาษออกจากแม่พิมพ์บางครั้งถอดตรงๆไม่ได้ จำเป็นต้องตัดออกเป็นสองหรือสามส่วน เมื่อจะประกอบเข้าด้วยกันก็ทากาวตรงรอยต่อและจับประกบจากนั้นจึงปิดตรงรอยต่อด้วยกระดาษกาว

กาว

งานเปเปอร์มาเช่เป็นงานที่สามารถสร้างสรรได้ตามจินตนาการ ทำให้งานนี้สามารถพัฒนารูปแบบไปได้อย่างไม่รู้จบ ข้อดีก็คือเป็นงานที่ลงทุนไม่มากนัก ทำคนเดียวก็ได้ เครื่องไม้เครื่องมือส่วนใหญ่ก็ใช้จากที่ทุกครัวเรือนมักจะมีอยู่แล้ว ลองศึกษาเทคนิคการทำต่างๆ และนำไปปรับใช้ดูและถ้ามีผลงานอยากจะอวดส่งมาให้ดูได้เลย

กาวนี้มีหลายสูตร สูตรหนึ่งจากผู้ที่มีอาชีพทำกระปุกหมูออมสินกระดาษขาย  กระปุกหมูกระดาษสีแดงสด เมื่อมีเหรียญอยู่ภายในการยึดเกาะของกาวจึงต้องมีความแข็งแรงพอ ส่วนผสมมีดังนี้

  • แป้งมัน  0.4 กก.
  • แป้งข้าวเจ้า 1 กก.
  • สารส้ม 1 ก้อน
  • น้ำ 4 ลิตร

วิธีทำกาว

  1. นำแป้งมันและแป้งข้าวเจ้าใส่ลงในหม้อ เติมน้ำลงไปพอคนให้เข้ากัน พักไว้
  2. เทน้ำส่วนที่เหลือลงในหม้ออีกใบต้มจนเดือด ใส่สารส้มลงไป 1 ก้อน คนให้สารส้มละลาย
  3. นำส่วนผสมแป้งขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟอ่อนและนำส่วนผสมข้อ 2 เทลงในส่วนผสมข้อ 1 เคี่ยวไปเรื่อยๆจนเหนียว ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

การทำพิมพ์

การทำเปเปอร์มาเช่บางครั้งเราจำเป็นต้องทำพิมพ์ขึ้นมาก่อน เราสามารถใช้ไม้อัดมาเป็นฐานในการหล่อพิมพ์หรือจะใช้จานที่มีพื้นผิวแบนเรียบก็แล้วแต่กรณี เมื่อทำพิมพ์เสร็จแล้วก็เก็บผิวงานให้เรียบร้อยด้วยกระดาษทรายละเอียดอีกครั้ง

เทคนิคต่างๆ ในการทำงานเปเปอร์มาเช่

งานเปเปอร์มาเช่นี้เมื่อเข้าใจการทำและชำนาญพอสมควรแล้วคุณสามารถสร้างงานขึ้นมาได้เองได้โดยไม่จำเป็นต้องลอกแบบใคร เทคนิคและวิธีการทำต่างๆ ที่จะกล่าวถึงนี้ใช้ในการทำผลงานสวยๆ ของคุณเองแหละ

เคล็ดลับ

  • พยายามฉีกกระดาษตามแนวเพื่อให้ได้ขนาดที่เท่าๆกัน ถ้าฉีกตามขวางจะทำให้กระดาษมีขนาดที่ไม่เท่ากัน
  • เพื่อป้องกันกระดาษในแต่ละชั้นเผยอออกมา ให้ใช้กระดาษชิ้นเล็ก ๆ ปะทับรอยต่อแทนที่จะใช้กระดาษชิ้นใหญ่ๆ


ที่มา : http://student.psu.ac.th/StudAffairs/carrey/c47/Career_december.htm





มาลองทำเปเปอร์มาเช่ักันดีกว่า [ตอนที่ 2]

วัสดุที่ต้องใช้ในการทำเปเปอร์มาเช่ มีดังต่อไปนี้

  1. แม่แบบที่ต้องการ
  2. กรรไกร / คัตเตอร์
  3. แผ่นรองตัด
  4. Petroleum Jelly
  5. แปรงทาสี / พู่กัน 
  6. กระดาษ
  7. สีอคริลิค
  8. กาว / แป้งเปียก
  9. ยูริเทน / แล็คเกอร์ สำหรับเคลือบจะเป็นแบบเงาหรือแบบด้านแล้วชอบครับ
  10. กระดาษทรายชนิดละเอียด
  11. อุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติม เช่น ตาไก่ ลูกปัด ฯลฯ แล้วแต่ไอเดียครับ
  12. โต๊ะทำงานผิวหน้าเรียบ สะอาด มีความมั่นคงแข็งแรง

ก่อนลงสี

ขั้นตอนการทำ เปเปอร์มาเช่

  1. เคลือบแม่แบบที่ต้องการด้วย petroleum jelly ให้ทั่ว
  2. ฉีกกระดาษที่เตรียมไว้เป็นชิ้นหรือแถบเล็กๆขนาดประมาณ 1x2 นิ้ว
  3. นำกระดาษมาทาแป้งเปียกและปิดทับบนแม่แบบนั้น
  4. ปะกระดาษให้เหลื่อมกันจนครบทั้งชั้น หลังจากนั้นก็เริ่มปะเช่นเดียวกันในชั้นถัดไป
  5. ตากแดดหรือผึ่งลม เพื่อให้ เปเปอร์มาเช่ แห้งสนิท
  6. แกะออกจากแม่แบบ
  7. ใช้กระดาษทรายชนิดละเอียดขัด เปเปอร์มาเช่ ให้เรียบเนียน
  8. ใช้กรรไกรตัดขอบที่ไม่ต้องการออก
  9. ทาสี เปเปอร์มาเช่ ด้วยสีรองพื้นสีขาว
  10. ทิ้งไว้ให้แห้ง
  11. ลงสีบน เปเปอร์มาเช่ ตามต้องการ
  12. เคลือบด้วยยูริเทน / แล็คเกอร์
  13. ทิ้งไว้ให้แห้ง

ลงสีเสร็จแล้ว

ข้อควรระวังในการทำงาน

เครื่องมือและอุปกรณ์หลายอย่างเมื่อไม่ใช้งานควรเก็บให้มิดชิด พ้นมือเด็กเช่น มีด กรรไกร สี วัสดุตกแต่งชิ้นเล็กๆ ที่เด็กอาจนำเข้าปากเพราะสีสวยๆ เศษกระดาษ กาว ทุกอย่างต้องเก็บให้เรียบร้อยอย่าทิ้งไว้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย


ที่มา : http://student.psu.ac.th/StudAffairs/carrey/c47/Career_december.htm





มาลองทำเปเปอร์มาเช่กันดีกว่า [ตอนที่ 1]

เปเปอร์มาเช่

เปเปอร์มาเช่ เป็นงานที่สามารถทำได้หลายรูปแบบและทำได้ง่าย ใช้เทคนิคง่ายๆ วัสดุที่ใช้ก็หาได้ง่ายและราคาถูกคือกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ใช้แล้ว กระดาษพิมพ์ดีดหรือกระดาษที่ไม่มีลวดลายสำหรับปิดชั้นนอกสุดเพื่อเตรียมการลงสี ต่างๆ เหล่านี้สามารถหาได้ทั่วไปในท้องตลาด หลักการทำของงานเปเปอร์มาเช่คือ การนำกระดาษที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และผ่านการแช่น้ำจนเปื่อยแล้วมาปิดลงบนแบบที่เตรีบมไว้ ปิดหลายๆ ชั้น แต่ละชั้นจะทากาวไว้และจะต้องรอให้กาวแห้งก่อน แต่งผิวให้เรียบร้อย เสร็จแล้วจึงตกแต่งด้วยสี การเปเปอร์มาเช่เป็นงานที่คุณสามารถสร้างผลงานตามจินตนาการของตัวเองได้โดยไม่ซ้ำแบบใคร ลงทุนน้อย




เปเปอร์มาเช่ จากเศษหนังสือพิมพ์

จากเศษหนังสือพิมพ์ที่ไร้ค่า สามารถนำมารังสรรค์ปั้นแต่ง เป็นชิ้นงานที่มีราคาแถมขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก ลงทุนไม่มาก ที่สำคัญเจ้าของไอเดียเผยอย่างหมดเปลือก ไม่น่าเชื่อว่าชิ้นงานที่เห็นอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นแจกัน กรอบรูปงานปั้นตัวสัตว์เหล่านี้ประดิษฐ์มาจากเศษวัสดุ หนังสือพิมพ์เป็นสินค้าที่เน่าง่ายที่สุด

ที่ว่า "เน่า" ในที่นี้หมายถึงหมดราคาจำหน่ายไม่ได้ต้องนำไปทำอย่างอื่นเพียงสถานเดียว (เว้นแต่ผู้ที่เก็บข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ไว้อ้างอิงในอนาคต) เพราะเพียงชั่วข้ามคืน หรือว่าล่วงเลยจากวันที่ที่กำหนดบนหน้าหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์เล่มนั้นก็แทบจะไม่มีใครหยิบอ่าน หรือแทบจะหมดความหมายทันทีหากเป็นของร้านค้าก็เตรียมตัวตีกลับโรงพิมพ์ แต่ถ้าเป็นของผู้บริโภคก็รอวันชั่งกิโลขาย หากราคาได้น้อยนิดก็ปล่อยให้ผุพังไป

หลายท่านคงเคยเห็นหมูออมสินกระดาษหรืออาจเป็นม้ากระดาษที่เด็กๆ สามารถขึ้นไปขี่ได้ ตุ๊กตาหรืออื่นๆ ปัจจุบันมีผู้ทำงานเหล่านี้น้อยลงที่เคยเห็นมีขายก็มีแถวถนนสาธร งานกระดาษปัจจุบันที่เห็นมีขายจะเป็นงานเปเปอร์มาเช่ การนำกระดาษแข็งมาประกอบเป็นกล่องหรืออาจเป็นรูปแบบอื่นๆและทาสี ตกแต่งลวดลายต่างๆให้ดูเก๋ก็สามารถนำออกขายทำรายได้ เป็นงานที่ทำได้ไม่ยากแถมวัสดุที่ใช้ก็หาง่าย ราคาถูกสุดๆ คือหนังสือพิมพ์เก่า


ที่มา : http://student.psu.ac.th/StudAffairs/carrey/c47/Career_december.htm